วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ประวัติรัฐธรรมนูญ

ประวัติของรัฐธรรมนูญ

ความหมายของรัฐธรรมนูญ 
1. บุคคลที่เสนอให้ใช้คำว่า “รัฐธรรมนูญ” คือ พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ซึ่งทรงมีความเห็นว่า ธรรมนูญเป็นคำสามัญ ฟังไม่เหมาะกับที่จะเป็นกฎหมายสำคัญของประเทศ

2. คำว่า “รัฐ” ในทางวิชาการ ถือว่าต้องมีองค์ประกอบ 4 ประการ คือ
  • ดินแดน
  • ประชาชน
  • อำนาจอธิปไตย
  • รัฐบาล
3. สังคมทั้งหลายต้องมีรัฐธรรมนูญ เพียงแต่อาจไม่เรียกว่ารัฐธรรมนูญเท่านั้น แม้ในประเทศไทยเมื่อแรกเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ยังไม่รู้จักคำว่ารัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป คงเรียกเพียงว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2475”

4. รัฐธรรมนูญ เป็นชื่อเฉพาะของกฎหมายประเภทหนึ่ง มีฐานะเป็นกฎหมายสูงสุด และเป็นกฎหมายที่กำหนดกฎเกณฑ์การปกครองประเทศอย่างกว้างๆ สำหรับ กฎหมายรัฐธรรมนูญ หมายถึงกฎหมายสาขามหาชนที่วางระเบียบเกี่ยวกับสถาบันการเมืองของรัฐ

5. กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นคำที่กว้างกว่ารัฐธรรมนูญ เนื่องจาก
  • คลุมถึงรัฐธรรมนูญด้วย
  • คลุมถึงกฎเกณฑ์การปกครองประเทศที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรด้วย
  • คลุมถึงกฎหมายทั้งหลายที่วางระเบียบเกี่ยวกับสถาบันการเมืองใดสถาบันการเมืองหนึ่งด้วย
6. ความคล้ายคลึงระหว่างรัฐธรรมนูญ และกฎหมายรัฐธรรมนูญ อยู่ที่ว่า เป็นกฎหมายมหาชนและวางระเบียบเกี่ยวกับการเมืองการปกครองคล้ายคลึงกัน เพียงแต่ว่ารัฐธรรมนูญจะกำหนกรายละเอียดมากกว่า

7. ความแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญ และกฎหมายรัฐธรรมนูญ อยู่ที่ว่า รัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร ในขณะที่กฎหมายรัฐธรรมนูญมีทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษร และไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

8. กฎหมายรัฐธรรมนูญ มีส่วนคล้ายกับกฎหมายปกครองที่ว่า เป็นกฎหมายมหาชนและวางระเบียบการปกครองรัฐ แต่ก็มีความแตกต่างในประเด็นดังต่อไปนี้
  1. ในด้านเนื้อหา กฎหมายรัฐธรรมนูญวางระเบียบการปกครองรัฐในระดับสูงและกว้างขวางมากกว่ากฎหมายปกครอง ในขณะที่กฎหมายปกครองวางระเบียบรัฐในการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น
  2. ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างราษฎรกับรัฐ กฎหมายรัฐธรรมนูญแสดงความเกี่ยวพันระหว่างรัฐกับราษฎรในรูปของกลุ่มราษฎรเป็นส่วนรวม ในขณะที่กฎหมายปกครองแสดงความเกี่ยวพันระหว่างราษฎรเป็นรายบุคคลกับรัฐ
  3. ในด้านฐานะของกฎหมาย กฎหมายรัฐธรรมนูญมีความสำคัญมากกว่ากฎหมายปกครอง
ประวัติแนวความคิดในการจัดทำรัฐธรรมนูญ 
1. การศึกษาแนวความคิดในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ควรศึกษาจากประวัติหรือเหตุการณ์ใน 4 สมัย
2. สมัยแรก (ก่อนปี ค.ศ.1758 ซึ่งเป็นปีที่มีการใช้มหาบัตร Magna Carta ในอังกฤษ)
  • กฎหมายเกี่ยวกับกฎเกณฑ์การปกครองประเทศมีลักษณะเลื่อนลอย มีบัญญัติไว้บ้าง เป็นจารีตประเพณี บ้าง เป็นโองการของกษัตริย์บ้าง
  • กฎหมายรัฐธรรมนูญสมัยนี้มีลักษณะราชาธิปไตยโดยแท้
3. สมัยที่สอง (ปี ค.ศ.1758 – ปี ค.ศ.1776 ซึ่งเป็นปีที่ประกาศอิสรภาพในสหรัฐอเมริกา)
  • รัฐธรรมนูญเริ่มมีความชัดเจนขึ้น เป็นกฎหมายที่จำกัดอำนาจของผู้ปกครอง
  • กฎหมายรัฐธรรมนูญสมัยนี้มีลักษณะเป็นอภิชนาธิปไตย (Oligarchy)
4. สมัยที่สาม (ปี ค.ศ.1776 – ปี พ.ศ.2488 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2)
  • มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในสมัยที่สามนี้มากมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ เช่น

    * การจัดทำรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ.1789
    * การปฏิวัติครั้งใหญ่ในฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ.1789 (พ.ศ.2332)
    * การจัดทำรัฐธรรมนูญในเยอรมัน ในปี พ.ศ.2392
    * การเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2475 
  • รัฐธรรมนูญสมัยนี้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแบ่งแยกอำนาจและการประกันสิทธิเสรีภาพของราษฎร
  • ปลายสมัยนี้ ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรปเกิดมีการต่อสู้ทางความคิดในเรื่องลัทธิการเมือง ระหว่างฝ่ายนิยมประชาธิปไตย และฝ่ายนิยมลัทธิเผด็จการในรูปแบบต่างๆ เช่น ฟาสซิสม์ นาซิสม์ และคอมมิวนิสต์
5. สมัยที่สี่ (ปี พ.ศ.2488 – ปัจจุบัน)
  • มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ ทั้งในระดับภายในประเทศและระดับระหว่างประเทศ

    * ระดับภายในประเทศนั้น มีการแตกแยกออกเป็นหลายรัฐ เช่น เยอรมันตะวันตกและ เยอรมันตะวันออก เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เป็นต้น
    * ระดับระหว่างประเทศนั้น เกิดองค์การสหประชาชาติ องค์การร่วมในระดับภูมิภาค
  • แนวความคิดในทางกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองแบบใหม่ (Modern Positive Law) เป็นที่ยอมรับมากขึ้น (คือการผสมผสานแนวคิดกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองและกฎหมายฝ่ายธรรมชาติเข้าด้วยกัน)
  • แนวคิดในการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยนั้น ขึ้นอยู่กับรูปแบบการปกครองของแต่ละประเทศ ซึ่งแบ่ง ออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

    * การแบ่งแยกอำนาจแบบเคร่งครัด ตามหลักรัฐบาลระบบประธานาธิบดี
    * การแบ่งแยกอำนาจแบบไม่เคร่งครัด ตามหลักรัฐบาลระบบรัฐสภา
  • ปัจจุบันเริ่มมีแนวคิดใหม่คือ ควรเน้นการแบ่งแยกหน้าที่มากกว่า
ประเภทของรัฐธรรมนูญ 
1. ประโยชน์ของการแบ่งแยกประเภทรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องของการเปรียบเทียบเพื่อการศึกษา โดยเฉพาะประเทศที่เกิดใหม่หรือเพิ่งได้เอกราชใหม่หรือคิดจะร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่
2. การแบ่งแยกประเภทรัฐธรรมนูญแบ่งได้หลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับจะใช้หลักเกณฑ์อะไรในการแบ่ง เช่น
  1. การแบ่งแยกตามรูปแบบของรัฐบาล ถือกันว่าปัจจุบันเป็นหลักเกณฑ์นี้ล้าสมัยแล้ว
    - อริสโตเติล เคยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ รัฐธรรมนูญแบบเอกาธิปไตย รัฐธรรมนูญแบบ รัฐบาลของคณะบุคคล และรัฐธรรมนูญแบบรัฐบาลของบุคคล
    - มองเตสกิเออ เคยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ รัฐธรรมนูญแบบสาธารณรัฐ รัฐธรรมนูญแบบ ราชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญแบบเผด็จการนิยม
  2. การแบ่งแยกตามรูปของรัฐ
    - รัฐธรรมนูญของรัฐเดี่ยว - รัฐธรรมนูญของรัฐรวม
  3. การแบ่งแยกตามวิธีการบัญญัติ
    - รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร - รัฐธรรมนูญไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
  4. การแบ่งแยกตามวีการแก้ไข
    - รัฐธรรมนูญที่แก้ไขง่าย - รัฐธรรมนูญที่แก้ไขยาก
  5. การแบ่งแยกตามกำหนดเวลาในการใช้
    - รัฐธรรมนูญชั่วคราว - รัฐธรรมนูญถาวร
  6. การแบ่งแยกตามลักษณะของรัฐสภา
    - เป็นรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง - เป็นสภาเดียวหรือสองสภา
  7. การแบ่งแยกตามลักษณะของฝ่ายบริหาร
    - รัฐธรรมนูญตามระบบประธานาธิบดี - รัฐธรรมนูญตามระบบรัฐสภา
  8. การแบ่งแยกตามลักษณะของฝ่ายตุลาการ
    - ฝ่ายตุลาการหรือฝ่ายใดเป็นผู้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ
3. ปัจจุบันได้เกิดความคิดใหม่ขึ้นว่า การแบ่งประเภทรัฐธรรมนูญควรแบ่งตามความเป็นจริง โดยพิจารณาถึงลักษณะการใช้รัฐธรรมนูญ หรือความมุ่งหมายในการมีรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
  1. รัฐธรรมนูญซึ่งมีกฎเกณฑ์ตรงต่อสภาพในสังคม (Normative Constitution) เป็นรัฐธรรมนูญประเภทที่มีกฎเกณฑ์การปกครองสอดคล้องกับลักษณะสังคม
  2. รัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดกฎเกณฑ์การปกครองประเทศไว้เกินความเป็นจริง (Nominal Constitution) เป็นรัฐธรรมนูญประเภทที่สมบูรณ์ แต่ยังขาดการปฏิบัติตามอย่างแท้จริง
  3. รัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดกฎเกณฑ์การปกครองประเทศไว้ตบตาคน (Semantic Constitution) เป็นรัฐธรรมนูญประเภทที่มีลักษณะเผด็จการ